
วันอาสาฬหบูชา “วันแห่งการหมุนวงล้อธรรมจักร”

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของวันสำคัญนี้ ได้ร่วมกันรักษาศีลให้บริสุทธิ์ และปฏิบัติภาวนาสมาธิหรือวิปัสสนา เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาด้วยความน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบรมศาสดา
.
ประวัติและความสำคัญ
เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช คือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี
ปฐมเทศนาที่พระองค์ทรงตรัสสอนแก่ปัญจวัคคีย์ คือ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ซึ่งแปลว่าพระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยหลักธรรมสำคัญ คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” และ “อริยสัจ 4” อันมีใจความสำคัญ ดังนี้
“มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ โดยพระพุทธองค์ทรงตำหนิหนทางปฏิบัติอันไร้ประโยชน์ 2 ทาง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
-
กามสุขัลลิกานุโยค เป็นการปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป แสวงหาแต่กามสุขอันพัวพันหมกมุ่นแต่รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส เป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสปะทุมิใช่ของพระอริยะ มิใช่ทางตรัสรู้หาประโยชน์มิได้
-
อัตตกิลมถานุโยค เป็นการปฏิบัติตนให้ได้รับความลำบาก เคร่งครัดเกินไป กระทำตนให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นการกระทำที่เหนื่อยเปล่า ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น
ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง คือ การปฏิบัติแบบกลาง ๆ ไม่ย่อหย่อนเกินไปแบบประเภทที่หนึ่ง และไม่ตึงเกินไปแบบประเภทที่สอง ดำเนินตามทางสายกลางซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า “อริยอัฏฐังคิกมรรค” หรือมรรคมีองค์ 8 คือทางอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ได้แก่
-
สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบหรือปัญญาเห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง การเห็นอริยสัจ 4 ตามสภาพความเป็นจริง
-
สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบหรือความคิดชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
-
สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต งดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง พูดเพ้อเจ้อเหวไหล พูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้อื่น
-
สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ การมีศีล ทำการที่สุจริต
-
สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
-
สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ เพียรละชั่ว บำเพ็ญดี
-
สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ การมีสติ ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
-
สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือ การอบรมจิตให้สงบและตั้งมั่น เพื่อให้ปราศจากกิเลสและนิวรณ์อยู่เสมอ
“อริยสัจ 4” แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่
-
ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความได้พบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น
-
สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก อันทำให้เกิดความกำหนัด เพลิดเพลินในอารมณ์ คือกามตัณหา ความทะยานอยากในกาม, ภวตัณหา ความทะยานในภพ, วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่มีภพ
-
นิโรธ ความดับทุกข์ โดยการดับตัณหาด้วยอริยมรรค คือ วิราคะ สละ ดับ ปล่อยไป ไม่พัวพัน
-
มรรค ข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ 8
เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแล้ว ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม เรียกว่าเกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ บรรลุเป็นพระโสดาบัน จึงทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์ทรงทำการอุปสมบทให้แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ โกณฑัญญะก็สำเร็จเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนามีชื่อว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ
ด้วยเหตุนี้ในวันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
จวบจนบัดนี้วงล้อธรรมจักรได้หมุนต่อเนื่องมาได้ประมาณ 2,600 ปีแล้ว ด้วยการปฏิบัติดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งตราบใดที่ชาวพุทธยังคงยึดมัชฌิมาปฏิปทาเป็นแนวทางปฏิบัติตน วงล้อธรรมจักรของพระพุทธองค์ก็จะยังคงหมุนต่อไป แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ก็จะนำพาผู้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่พุทธศาสนิกชนละเลยการปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทานี้เสีย ก็จะทำให้ธรรมจักรหยุดหมุนและกลืนหายไปตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิตย์ นั่นหมายถึงความดับสูญของพระพุทธศาสนา ความดับสูญของหนทางนำไปสู่พระนิพพาน ทำให้เหล่าสรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้อย่างไร้ที่พึ่ง หมดโอกาสที่จะได้ศึกษาความรู้อันสำคัญนี้ จนกว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่จะมาตรัสรู้ ธรรมจักรนี้จึงจะสามารถหมุนได้อีกครั้งหนึ่ง
เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชานี้ ขอเชิญชวนเหล่าพุทธศาสนิกชนร่วมกับปฏิบัติภาวนาน้อมถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งองค์พระศาสดา ตลอดจนพึงศึกษาหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และปฏิบัติตามเพื่อเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
เรียบเรียงโดย นายธัชชาพัศร์ ธนัตถ์ถิรานัน
องค์กรโนอิ้งบุดด้า
เพื่อการปกป้องพระศาสนา
27 กรกฎาคม 2561